แพ เลี้ยงประเสริฐ เกิดเมื่อประมาณ พ.ศ. 2447 ที่บ้านท่าเสา จ.อุตรดิตถ์ มีพี่น้อง 7 คน โดยเป็นชาย 6 คน หญิง 1 คน โดยพี่น้องที่เป็นชาย 5 คนคือ แก้ว เลี้ยงประเสริฐ โต๊ะ เลี้ยงประเสริฐ โพล้ง เลี้ยงประเสริฐ ฤทธิ์ เลี้ยงประเสริฐ และพลอย เลี้ยงประเสริฐ เป็นนักมวยมีชื่อเสียงทั้งหมด
นายแพฝึกมวยกับครูเอม บ้านท่าเสาเช่นเดียวกับพี่ชาย เข้ามาชกในกรุงเทพฯพร้อมกับนายโพล้ง ผลงานการชกที่มีชื่อเสียงคือชกชนะบังสะเล็บ ศรไขว้ ที่เคยเสมอกับนายฤทธิ์มาแล้ว
ครั้งนั้น นายเจียร์ นักมวยชาวเขมรจากพระตะบองซึ่งมีชื่อเสียงในด้านคงกระพันชาตรี เคยชกคนตายมาแล้ว เข้ามาเปรียบมวยในกรุงเทพฯ พระชลัมภ์พิสัยเสนีย์จึงเสนอนายแพ เลี้ยงประเสริฐขึ้นชกด้วย นายแพขึ้นชกกับนายเจียร์ที่สนามหลักเมืองเมื่อ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 ผลการชกปรากฏว่า นายแพ ชนะน็อค นายเจียร์ในยกที่ 3 โดยขณะที่นายเจียร์ชกหมัดเหวี่ยงเข้าหา นายแพได้ปล่อยหมัดคู่แบบหมัดหงายที่เรียกหนุมานถวายแหวนถูกบริเวณลูกกระเดือกของนายเจียร์ นายเจียร์ชะงักอยู่กับที่ ทำท่าจะล้มเข้าหานายแพ นายแพไม่ทิ้งนาทีทองเข้าชกกระหน่ำใส่นายเจียร์จนทรุดลงนั่งบนเชือก นายแพถอยออกมาปรากฏว่านายเจียร์ทรุดลงกับพื้นหมดสติ พี่เลี้ยงพยายามประคองไปปฐมพยาบาลแต่ไม่ฟื้นขึ้นมาอีกเลยจนเสียชีวิตระหว่างนำส่งโรงพยาบาล การตายของนายเจียร์ทำให้นายแพถูกจับด้วยข้อหาฆ่าคนตายและถูกขัง จนกระทั่งถูกปล่อยตัวใน 4 ทุ่มของวันเดียวกัน พระยาเทพหัสดินทร์ นายสนามในครั้งนั้นได้วิ่งเต้นช่วยเหลือ ในที่สุดนายแพถูกปล่อยตัวเพราะกฎหมายที่ใช้อยู่ในครั้งนั้นระบุว่า การตายที่เกิดขึ้นจากการชกมวยที่ต่างฝ่ายต่างสมัครใจมาชกกันเองนั้น ถือว่าไม่มีความผิด ดังที่เคยทีบัญญัติไว้ในกฎหมายตราสามดวงว่า
ชนทั้งสองเป็นเอกจิตเอกฉันท์ตีมวยด้วยกัน และผู้หนึ่งต้องเจ้บปวดหักโข้นถึงแก่มรณภาพ ท่านว่าหาโทษมิได้ ตลอดจนผู้ยุยงตกรางวัล เพราะเหตุจะได้มีจิตเจตนาให้สิ้นชีวิตก็หามิได้ เป็นกรรมของผู้ถึงมรณภาพเองแล
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหตุให้กระทรวงมหาดไทยสั่งห้ามการชกมวยคาดเชือกทั่วราชอาณาจักร ให้สวมนวมแทน
หลังจากทางตำรวจปล่อยตัวแล้ว นายแพและพี่ชายทั้ง 5 คนจึงกลับไปชกมวยที่อุตรดิตถ์บ้านเกิด ไม่กลับมาชกในกรุงเทพฯอีกเลย นายแพเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2520 รวมอายุได้ 73 ปี